เป็ดหรือนกอินทรี

เจอบทความเรื่องนี้รู้สึกว่าดีมาก คิดว่าในหลายองค์กรอาจจะมีสภาพแบบนี้จึงอยากนำมาแชร์
ในหนังสือเล่มล่าสุดของเคน บลังชาร์ด ‘ผู้นำเหนือระดับ ด้วยวิสัยทัศน์เหนืออนาคต’ (Leading at a Higher Level) ได้มีการจำแนกคนออกเป็นสองประเภท คือ คนที่เหมือนเป็ด และคนที่เหมือนนกอินทรี
คุณอยากจะเป็นอะไรดีครับ ระหว่างเป็ดกับนกอินทรี?

คนที่เป็นเป็ดจะมีความประพฤติเหมือนผู้ตกเป็นเหยื่อตลอดเวลา และร้องว่า ‘ก้าบ ก้าบ ก้าบ’ ท่ามกลางความโกลาหล เดินไปเดินมาเป็นฝูงอย่างไร้จุดหมาย แล้วแต่ว่าจะโดนต้อนไปในทิศทางใด แล้วแต่ว่าจะมีสิ่งภายนอกเข้ามากระทบอย่างไร ก็จะตอบโต้ไปตามแรงอัดของสิ่งกระทบนั้น
คนที่ทำงานเหมือนเป็ดจะยึดมั่นกับกฏระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย จนลืมไปว่า ความสำคัญของมนุษย์ที่เหนือเครื่องจักรกล คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศสมัยใหม่ คือ ความคิดสร้างสรรค์หรือพลังของสมองซีกขวา เมื่อใดก็ตามที่มีการปฏิบัติงานหรือมีข้อโต้แย้งจากลูกค้า เหล่าพนักงาน ‘เป็ด’ ก็จะอ้างถึงกฏของบริษัท และหากลูกค้าไม่พอใจ พนักงาน ‘เป็ด’ ก็จะอ้างอิงให้ ‘หัวหน้าเป็ด’ เป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งแน่นอน ต้องยึดอยู่ที่กฏระเบียบ ไม่สามารถใช้หัวสมองได้ คิดนอกกรอบไม่เป็น
ที่น่าเศร้า คือ สูงสุดขององค์กรมักจะเป็น ‘เจ้าพ่อเป็ด’ หรือ ‘เจ้าแม่เป็ด’ ผู้ยืนยันว่า กฏย่อมเป็นกฏ ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้นโยบายนี้เท่านั้น โดยไม่สนใจถึงความเสียหายใดๆ อันเกิดขึ้นจากการสูญเสียลูกค้า สูญเสียเวลา ความรู้สึกและแบรนด์ลอยัลตี้ที่มีต่อองค์กร นั่นเป็นเพราะองค์กรเป็ดเหล่านี้ ไม่เข้าใจเรื่องภาพรวม ภาพใหญ่ เรื่องความรู้สึก นามธรรมและพลังแห่งจินตนาการ และการคิดนอกกรอบ
อีกไม่นาน องค์กรเหล่านี้และพนักงานเหล่านี้ย่อมสูญพันธ์ เพราะโลกได้เคลื่อนจากยุคอุตสาหกรรม และยุคข้อมูลข่าวสาร ซึ่งใช้สมองซีกซ้ายเป็นหลักในการวิเคราะห์ สร้างกฏเกณฑ์ สู่ยุคเศรษฐกิจที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ที่เรียกว่า Creative Economy หรือ Conceptual Economy โดยใช้พลังของสมองซีกขวาเข้ามาต่อยอด ทำให้มนุษย์มีคุณค่าเหนือเทคโนโลยีสมัยใหม่

เราไม่เคยเห็นภาพนกอินทรีตกอยู่ท่ามกลางความสับสนอลหม่าน หรือมัวหมกหมุ่นกับกฏเกณฑ์ที่ล้าสมัย เพราะนกอินทรีบินสูงกว่านั้น แล้วทิ้งความยุ่งเหยิงเบื้องล่างไว้ให้บรรดาเป็ดวิ่งวุ่น ก้าบ ก้าบ ก้าบ กันต่อไป..
เราจึงควรพัฒนาศักยภาพของทีมงานให้สามารถสยายปีก มองไกล ใฝ่สูง ดั่งเช่นนกอินทรี!
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น